หน้าบัน ถือเป็นองค์ประกอบหนึ่งในโครงสร้างหลังคาของอาคารสถาปัตยกรรมไทยและในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งนิยมสร้างหลังคาในรูปทรงสามเหลี่ยมที่มีความลาดเอียงและมีเพดานสูงโปร่งโล่ง โดยลวดลายของหน้าบันนั้น มักจะสื่อถึงเรื่องราวต่างๆในยุคสมัยนั้นๆ รวมถึงสื่อความหมายถึงเหตุผลของการสร้างอาคารหลังนั้นไว้ให้อนุชนรุ่นหลังได้ทราบถึงเรื่องราวที่มาของอาคารด้วย
…..ซึ่งหน้าบันของพระอุโบสถวัดโสธรวรารามนั้น ถือเป็นองค์ประกอบเด่นส่วนหลังคา มีลักษณะเป็นจั่วเปิด มุงด้วยกระเบื้องเซรามิกสีด่อน (ขาวอมเทา) ตกแต่งด้วยช่อฟ้าปากปลา รวยระกาฝักเพกา และหางหงส์แบบไทย ซึ่งทําด้วยเซรามิกเคลือบน้ำทอง ที่มีเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย
ด้านข้างมีหลังคาซ้อนกัน 4 ชั้น ส่วนด้านยาวมีหลังคาซ้อนกัน 5 ชั้น ประกอบกับหลังคา ซึ่งคลุมมุขโถงอีก 1 ชั้น ส่วนหน้าบัน มีทั้งหมด 8 หน้าบัน 5 แบบ หน้าบันแต่ละแบบประดิษฐ์เป็นลวดลายที่มี ความหมายแตกต่างกัน ดังนี้
- หน้าบันชั้นล่างด้านทิศตะวันออก บริเวณมุขด้านหน้า
เป็นรูปพระพุทธโสธร ประดิษฐานอยู่ในซุ้มเรือนแก้ว
หมายถึง พระอุโบสถหลังนี้เป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อพระพุทธโสธร ซึ่งเป็นพระพุทธรูปสําคัญคู่บ้านคู่เมือง
- หน้าบันชั้นล่างด้านทิศตะวันตก
เป็นรูปตราพระราชลัญจกรประจํารัชกาลที่ ๙ ประดิษฐานอยู่ ในซุ้มเรือนแก้ว
หมายถึง พระอุโบสถหลังนี้สร้างขึ้นตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ 9
- หน้าบันชั้นบนด้านทิศตะวันออกและด้านทิศตะวันตก
เป็นรูปพานประดิษฐานพระไตรปิฎก อยู่ในซุ้มเรือนแก้ว
หมายถึง ที่แห่งนี้มี วิหารพระไตรปิฎก อันแสดงถึงการบูชาพระธรรมคําสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
- หน้าบันชั้นบนด้านทิศเหนือและทิศใต้
เป็นรูปพระพุทธรูป ทั้งหมด ๕ องค์ ประดิษฐานอยู่ในซุ้มเรือนแก้ว
หมายถึง การแสดงความรําลึกถึงพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ ซึ่งตามความเชื่อ ของศาสนาพุทธนิกายหินยานเชื่อว่ามีพระพุทธเจ้าที่ตรัสรู้ในภัทรกัปในโลกนี้ ๕ พระองค์ ได้แก่ พระกกุสันธะ พระโกนาคมนะ พระกัสสปะ พระสมณโคดม (สิทธัตถะ) และในอนาคต คือ พระศรีอาริยเมตไตรย (พระศรีอาริย์)
- หน้าบันชั้นล่างด้านทิศเหนือและทิศใต้
เป็นรูปอุณาโลมหรือขนระหว่างคิ้วพระพุทธเจ้า ประดิษฐานอยู่ในเรือนบุษบก ประกอบด้วยฉัตรเครื่องสูงอยู่ ๒ ข้าง ด้านข้างผูกลายประกอบ
ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก
หนังสือ : โสธรวรารามวรวิหาร นิมิตแห่งบุญ